วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

ข้อดี-ข้อเสียของรากเทียม

การฝังรากเทียม เป็นการปลูกรากฟันแทนฟันที่สูญเสียไปเพื่อฟันให้สามารถใช้งานได้ดังเดิม ในการฝังรากเทียมอาจมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่เกิดขึ้นระหว่างทำการรักษา ผู้ที่สนใจปลูกรากเทียมจึงควรรู้และเข้าใจผลที่จะเกิดขึ้นเมื่อตัดสินใจฝังรากเทียม
 
ข้อดี
      • ในกรณีที่ทำเพื่อทดแทนฟันที่ถอนไปบางซี่ จะไม่สูญเสียเนื้อฟันธรรมชาติของฟันข้างเคียง
      • ในกรณีที่ทำเป็นฐานฟันปลอมชนิดถอดได้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานและการยึดติดของฟันปลอมในช่องปาก
      • ทดแทนฟันแท้ที่สูญเสียไป
      • ฝังรากเทียมและใส่ฟันเสร็จในครั้งเดียว
      • สามารถรับประทานอาหารได้ทันที
      • ไม่ต้องเสียเวลาในการรักษาหลายครั้ง
      • เลียนแบบโครงสร้างฟันธรรมชาติ (ใช้งานและสวยงามเหมือนฟันธรรมชาติ)
      • ไม่ต้องกรอฟันข้างเคียงเพื่อใส่สะพานฟัน

ข้อเสีย
      • ค่าใช้จ่าย เนื่องจากเทคโนโลยีทั้งหมดเป็นสิ่งที่ต้องนำเข้ามาทั้งสิ้น เครื่องมือเครื่องใช้แต่ละชิ้นมีราคาสูง ทำให้ค่ารักษาสูงไปด้วย โดยปกติแล้วค่ารักษามักจะสูงกว่า 4 หมื่นบาทขึ้นไปจนถึง 8 หมื่นบาทต่อซี่ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่ ทันตแพทย์ รวมถึงระบบของรากเทียมที่ใช้ นอกจากนี้ถ้าหากผู้ป่วยมีกระดูกไม่แข็งแรงหรือไม่เพียงพอ ก็ต้องมีการผ่าตัดเพื่อทำการเสริมกระดูกอีกทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ถ้าหากเปรียบเทียบในระยะยาวแล้ว การทำรากเทียมจะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาหรือแก้ไขที่ต่ำกว่า เนื่องจากความแข็งแรงและอายุการใช้งานที่มากกว่าฟันปลอมประเภทอื่นๆ หลายเท่าตัว
      • ความสวยงาม ถ้าเปรียบเทียบกับฟันปลอมติดแน่นด้วยกันแล้ว รากเทียมให้ความสวยงามได้ยากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณฟันหน้าบน ดังนั้น ถ้าหากเป็นบุคคลที่มีริมฝีปากสั้นหรือยิ้มแล้วเห็นคอฟันหรือเป็นคนเหงือกบางหรือมีการถอนฟันไปเป็นระยะเวลานานๆ จนกระดูกละลายตัว ควรปรึกษาทันตแพทย์ที่ให้การรักษาถึงแนวโน้มการเกิดปัญหาเหล่านี้ เพื่อป้องกันและแก้ไขก่อนที่จะตัดสินใจ
      • การผ่าตัด เป็นสิ่งที่ทุกคนกังวลใจมากที่สุด แต่ในการผ่าตัดก็มีทั้งง่ายและยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดฝังรากเทียม อาจจะต้องมีการผ่าตัดหลายครั้ง โดยปกติก่อนที่จะให้ทำการรักษา ทันตแพทย์จะต้องทำการประเมินผู้ป่วยก่อนว่า อยู่ในวิสัยที่สามารถให้การรักษาได้หรือไม่ ถ้าไม่สามารถรักษาได้ก็จะทำการส่งต่อผู้ป่วยไปให้ผู้ที่มีความสามารถสูงกว่าดูแล เพื่อให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์สูงสุด
      • ระยะเวลา การทำรากเทียมจะต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 4 – 6 เดือน ถึงแม้จะมีบางระบบสามารถย่นระยะเวลาลงมาเหลือเพียง 2 เดือนแล้วก็ตาม แต่ก็มีหลายๆ กรณีที่ยังต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานาน ผู้ป่วยบางคนที่ใจร้อนอาจจะไม่ชอบจึงจำเป็นต้องไปทำเป็นฟันปลอมประเภทอื่นต่อไป
      • ความต้านทานต่อเชื้อโรค ถึงแม้รากเทียมจะมีลักษณะใกล้เคียงฟันธรรมชาติมาก แต่ก็มีความต้านทานต่อเชื้อโรคต่ำกว่า จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลรักษาความสะอาดให้ดี เพราะถ้ามีการอักเสบของกระดูกรอบๆ รากฟันแล้ว อัตราการละลายตัวของกระดูกจะเร็วกว่าและรุนแรงกว่าที่เกิดในฟันธรรมชาติ

ข้อจำกัด
      • ไม่สามารถทำได้ในทุกกรณี เช่น สภาพเหงือกหรือกระดูกขากรรไกรไม่เหมาะสม หรือมีโรคทางระบบบางชนิด เช่น โรคเบาหวานที่ยังไม่ควบคุม เป็นต้น
      • ใช้ระยะเวลาในการรักษาจนเสร็จสมบูรณ์นานกว่าการทำสะพานฟันปกติ เนื่องจากต้องแบ่งการรักษาเป็น 2 ระยะ
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก dentistry.kku.ac.th